Home ที่ปรึกษากฎหมาย โดย ทนาย สุนทร พยัคฆ์ การพัฒนาเศรษฐกิจจีน ช่วยหนุน การขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยอย่างไร ?

การพัฒนาเศรษฐกิจจีน ช่วยหนุน การขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยอย่างไร ?

11 second read
0
0
257

แม้ว่า จะมีปัจจัยท้าทายที่ส่งผลกระทบต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจจีน ในปีนี้ เช่น เรื่องอุปสงค์การบริโภค การลงทุนของภาคเอกชน ปัญหาในภาคอสังหาริมทรัพย์จีน แต่ที่ประชุมสำนักงานเศรษฐกิจ และการเงินของพรรคคอมมิวนิสต์ ระบุ ว่า ปีนี้เศรษฐกิจจีนมีแนวโน้มปรับตัวในทิศทางบวก จากที่จีนเดินหน้ากระตุ้นเศรษฐกิจด้วยมาตรการต่าง ๆ โดยเฉพาะแผนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยการพัฒนาคุณภาพสูง การกระตุ้นการอุปโภคบริโภค ในประเทศที่ยั่งยืน และการส่งเสริมการส่งออก

การเติบโตของเศรษฐกิจจีน มีความหมายต่อประเทศไทย อย่างมาก และสร้างแรงกระเพื่อมต่อประเทศไทย ในหลายด้าน ทั้งด้านการส่งออก การค้าการลงทุน การท่องเที่ยว และการขนส่ง

ด้านการส่งออก จีน เป็นตลาดส่งออกหลักอันดับ 2 ของไทย มีสัดส่วนการส่งออก 12% ของการส่งออกของไทย  การที่จีนส่งเสริมการบริโภคในประเทศ ย่อมเป็นโอกาสที่ดีที่ผู้ประกอบการสินค้าไทย จะขยายตลาดไปสู่ผู้บริโภคจีน  หอการค้าไทยระบุว่า มูลค่าการส่งออกสินค้าไทยไปจีนเมื่อปี 2566 มีมูลค่ารวมทั้งสิ้นประมาณ 1,200,000 ล้านบาท ขณะที่การส่งออกผ่านแดนไปจีนมีมูลค่ารวกว่า 200,000 ล้านบาท หรือ ขยายตัวประมาณ 41% ล่าสุด ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ประเมินทิศทางการส่งออกของไทยไปตลาดจีนในปีนี้ว่า การส่งออกน่าจะเติบโตได้ 2% สินค้าส่งออกที่สำคัญ ได้แก่ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็ง โดยเฉพาะทุเรียน ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ ไก่สดแช่เย็นแช่แข็งผลิตภัณฑ์อลูมิเนียม ส่วนสินค้าดาวรุ่ง คือ ทรานซิสเตอร์ ไดโอด กุ้งสดแช่เย็น แช่แข็ง เลนส์ กระเป๋า อัญมณีและเครื่องประดับ ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยจึงยังมีโอกาสอีกมากในการเจาะตลาดจีนตามความต้องการของผู้บริโภคจีน

ด้านการลงทุน

การลงทุนของภาคเอกชนจีนในประเทศไทย ยังมีอยู่อย่างต่อเนื่อง นอกจากจะได้เม็ดเงินจากการลงทุนแล้ว ยังทำให้ไทยได้ประโยชน์จากการได้รับ know-how จากจีน จากการลงทุนในอุตสาหกรรมต่าง ๆ ด้วยคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนระบุว่า ในปีที่ผ่านมามีการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) จากจีน คิดเป็นมูลค่า กว่า 150,0000 ล้านบาท เนื่องจากไทยมีศักยภาพทั้งเรื่องความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐาน ทำเลที่ตั้งที่เป็นศูนย์กลางของภูมิภาคอาเซียน มีวัตถุดิบ มีต้นทุนต่ำเมื่อเทียบกับการลงทุนในประเทศอื่นๆ โดยอุตสาหกรรมที่จีนมาลงทุนในไทย ได้แก่ อุตสาหกรรมดิจิทัล เครื่องใช้ไฟฟ้า และอิเล็กทรอนิกส์ เคมีภัณฑ์ ยานยนต์ และชิ้นส่วนยานยนต์

โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า จะเห็นว่า ได้รับความสนใจจากบริษัทจีนเข้ามาลงทุนในหลายโครงการ เช่น การลงทุนสร้างฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าของ BYD AION CHANGAN และโรงงานผลิตแบตเตอรี่ของผู้ประกอบการจีน ซึ่งการลงทุนของผู้ประกอบการจีนในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า ทำให้ไทยเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าของภูมิภาคและสร้างแข็งแกรงให้กับการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ของไทยด้วย

ด้านการท่องเที่ยว

เศรษฐกิจจีนที่ฟื้นตัวขึ้น ทำให้มีนักท่องเที่ยวจีน หลั่งไหลเดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศ มากขึ้น และปีนี้มีปัจจัยสำคัญที่ช่วยกระตุ้นให้ชาวจีนมาเที่ยวประเทศไทยเพิ่มมากขึ้น คือ ทางการไทย และจีน ได้ลงนามในข้อตกลงยกเว้นการตรวจลงสำหรับนักท่องเที่ยวของกันและกัน มีผลตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2567 รวมถึงการกระตุ้นให้สายการบินต่าง ๆ เพิ่มเที่ยวบินจีน-ไทยมากยิ่งขึ้น บริษัทนำเที่ยวในจีน กลับมาทำตลาดในประเทศไทยมากขึ้น ช่วยทำให้บรรยากาศการท่องเที่ยวคึกคักมากยิ่งขึ้น เห็นได้จากจำนวนนักท่องเที่ยวจีน ที่เดินทางมาท่องเที่ยวประเทศไทย ในช่วงเทศกาลตรุษจีน ที่ผ่านมามีจำนวน เกินกว่า 200,000 คน โดยกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาระบุว่าในเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์นี้ มีนักท่องเที่ยวจีนเดินทางมาท่องเที่ยวประเทศไทยกว่า 900,000 คน และตั้งเป้าว่าปีนี้จะมีนักท่องเที่ยวจีนมาเยือนประเทศไทย 8.5 ล้านคน ตั้งเป้ารายได้ที่ 451,800 ล้านบาท

นักท่องเที่ยวจีนจึงเป็นนักท่องเที่ยวกลุ่มสำคัญที่จะช่วยทำให้ภาคการท่องเที่ยวฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง ช่วยสร้างรายได้ให้กับจังหวัดท่องเที่ยว โดยคาดว่าจังหวัดท่องเที่ยวที่จะได้รับความนิยมจากกรุ๊ปทัวร์จีน ได้แก่ กรุงเทพ เชียงใหม่ พัทยา และจังหวัดท่องเที่ยวในภาคใต้ฝั่งอันดามัน ได้แก่ ภูเก็ต พังงา และกระบี่ รวมถึงจังหวัดท่อง ที่นักท่องเที่ยวจีนกลุ่มที่เข้ามาอย่างอิสระ (FIT) ที่เป็นคนรุ่นใหม่และนักธุรกิจชอบไปเยือน เช่น แม่ฮ่องสอน กาญจนบุรี เป็นต้น

ด้านการขนส่ง

จีน มีแผนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของจีนและภูมิภาค ด้วยการสนับสนุนโครงการพัฒนาระบบขนส่งร่วมกับประเทศในภูมิภาคอาเซียนหลายประเทศ โดยมีความร่วมมือกับประเทศไทยในการพัฒนาโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ระหวางรัฐบาลไทยและรัฐบาลจีน ระยะทาง 608 กิโลเมตร 11 สถานี แบ่งเป็น 2 ระยะ คือ ระยะที่1 เส้นทางกรุงเทพ-นครราชสีมา มีกำหนดจะเปิดให้บริการในปี 2569 และระยะที่ 2 คือ เส้นทางนครราชสีมา-หนองคาย มีกำหนดจะเปิดให้บริการ ในปี 2571 เมื่อโครงการแล้วเสร็จจะทำให้มีเส้นทางขนส่งในภูมิภาคที่เชื่อมจีน-ลาว-ไทย ทำให้ประเทศไทยมีทางเลือกในการขนส่งผ่านทางลาว-จีน ต่อไปยังภูมิภาคอื่นๆ ช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยว และช่วยพัฒนาเศรษฐกิจ และยกระดับคุณภาพชีวิต ของผู้คนที่อยู่บริเวณแนวเส้รทางรถไฟ ด้วย

ดังนั้น การขับเคลื่อนเศรษฐกิจของจีน ซึ่งเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่ อันดับ 2 ของโลก และยังเป็นตลาดส่งออกหลักอันดับ 2 ของไทย ย่อมมีความสำคัญกับไทยอย่างมาก ในทุกมิติ ทั้งการส่งออก การลงทุน การท่องเที่ยว และการขนส่ง ท่จะสร้างให้เศรษฐกิจไทยเติบโตในระยะยาว ได้อย่างแข็งแกร่ง

บทความ : ประวีณมัย บ่ายคล้อย

ภาพ CGTN

TAG : 0 0 Google +0 เขียนเมื่อ    พฤหัสบดี  29  กุมภาพันธ์  2567  12:08:59 เข้าชม  1897365 ครั้ง

Load More Related Articles
Load More By admin
Load More In ที่ปรึกษากฎหมาย โดย ทนาย สุนทร พยัคฆ์
Comments are closed.

Check Also

นายก อบจ.ภูเก็ต เปิด โครงการค่ายเยาวชน เพื่อการให้ “TAKE LESS, GIVE MORE”

เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2567  ที่ผ่านมา ณ วิทยาลัยป้องกั … …