
การประชุมสุดยอดอาเซียน คณะมนตรีความร่วมมือรัฐอ่าวอาหรับ จีน (ASEAN – GCC – China Summit) ครั้งแรก ซึ่งจัดขึ้น เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2025 ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย ถือเป็นก้าวสำคัญ ในการเสริมสร้างความร่วมมือทางเศรษฐกิจ ระหว่าง อาเซียน กลุ่ม GCC และจีน ท่ามกลางความท้าทายจากนโยบายภาษีของสหรัฐฯ
นายกรัฐมนตรีหลี่ เฉียง ของจีน กล่าวถ้อยแถลงในการประชุม นี้ โดยเรียกร้องให้ทั้งสามฝ่าย ร่วมกันเป็นต้นแบบด้านการเปิดเสรี ความร่วมมือเพื่อการพัฒนา และการหลอมรวมระหว่างอารยธรรม โดย ระบุ ว่า อาเซียน กลุ่ม GCC และจีน มีความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นมาอย่างยาวนาน และกลไกความร่วมมือไตรภาคีนี้ นับเป็นความร่วมมือทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค ที่สำคัญ ท่ามกลางภูมิทัศน์โลกที่ซับซ้อนและการเติบโตทางเศรษฐกิจ ที่ชะลอตัว
การเชื่อมโยง และการทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดของทั้งสามฝ่าย สามารถสร้าง “วงจรเศรษฐกิจที่มีพลวัต” ซึ่งไม่เพียงส่งผลดีต่อความรุ่งเรืองของแต่ละฝ่าย แต่ยังส่งเสริมสันติภาพ และการพัฒนาทั่วภูมิภาคเอเชีย และโลก อีกด้วย
นายหลี่ เฉียง เสนอให้ทั้งสามฝ่าย ยึดมั่นในการสร้าง “ต้นแบบแห่งความร่วมมือระดับโลก” ใน 3 มิติ ได้แก่
- ต้นแบบของการเปิดเสรีข้ามภูมิภาค
ประชากร และขนาดเศรษฐกิจรวมของอาเซียน กลุ่ม GCC และจีน คิดเป็นประมาณ 1 ใน 4 ของโลก การเชื่อมโยงตลาดทั้งสามจะสร้างพลังขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจอย่างมหาศาล โดย จีนและอาเซียน ได้เจรจาเรื่องการยกระดับเขตการค้าเสรี ฉบับที่ 3.0 แล้ว และคาดหวังว่าการเจรจาเขตการค้าเสรีระหว่าง กลุ่ม GCC กับฝ่ายต่างๆ จะบรรลุผลโดยเร็ว เพื่อยกระดับการค้า 3 ฝ่าย
- ต้นแบบของความร่วมมือด้านการพัฒนา
นายเหลี่ เฉียง กล่าวว่า แม้ทั้งสามฝ่ายอยู่ในช่วงการพัฒนาที่ต่างกัน แต่ความแตกต่างไม่ใช่อุปสรรค แต่ คือ “ข้อได้เปรียบที่เกื้อหนุนกัน” โดย จีน พร้อมขยายความร่วมมือกับอาเซียน และกลุ่ม GCC เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนา
- ต้นแบบของการหลอมรวมอารยธรรม
จีน อาเซียน และ กลุ่ม GCC ต่างมีอารยธรรมที่รุ่มรวย ที่สามารถแบ่งปันคุณค่าร่วมกัน ทั้งในด้านความร่วมมือ การเปิดกว้าง และการยอมรับความหลากหลาย
นายหลี่ เฉียง ยังเสนอให้มีการแลกเปลี่ยนด้านวัฒนธรรมอย่างลึกซึ้งยิ่งขึ้น และพร้อมยกระดับความร่วมมือไตรภาคี โดยเสนอแผนปฏิบัติการความร่วมมือ “สายแถบและเส้นทาง” ที่มีคุณภาพสูง สนับสนุนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เศรษฐกิจดิจิทัล ปัญญาประดิษฐ์ การเกษตร พลังงานสีเขียว และการลดคาร์บอน พร้อมทั้งเสนออำนวยความสะดวกด้านวีซ่าแก่ประเทศอาเซียน และกลุ่ม GCC
นอกจากนี้ นายหลี่ เฉียง เรียกร้องให้ทั้ง 3 ฝ่าย เสริมความร่วมมือภายใต้กรอบสหประชาชาติ และพหุภาคีอื่น ๆ เพื่อปกป้องผลประโยชน์ร่วมกันของประเทศกำลังพัฒนา ร่วมกันขับเคลื่อนโลกที่เป็นธรรม และเท่าเทียมยิ่งขึ้น
บทความ : ประวีณมัย บ่ายคล้อย / ภาพ : Xinhua
TAG : 0 0 Google +0 เขียนเมื่อ : ศุกร์ 30 พฤษภาคม 2568 21:10:59 เข้าชม : 1687900 ครั้ง