Home ที่ปรึกษากฎหมาย โดย ทนาย สุนทร พยัคฆ์ เรือเสวี่ยหลง 2 เรือสำรวจขั้วโลก กับความร่วมมือทางวิทยาศาสตร์ไทย-จีน

เรือเสวี่ยหลง 2 เรือสำรวจขั้วโลก กับความร่วมมือทางวิทยาศาสตร์ไทย-จีน

11 second read
0
0
210

เรือตัดน้ำแข็ง “เสวี่ยหลง 2” เรือวิจัยขั้วโลกที่ทันสมัยที่สุดของจีน มาเยือนประเทศไทย ระหว่าง วันที่ 19-23 พฤษภาคม 2568  โดยเทียบท่าที่ท่าเรือจุกเสม็ด ฐานทัพเรือสัตหีบ จังหวัดชลบุรี เพื่อร่วมฉลองวาระสำคัญ คือ การเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในโอกาสทรงเจริญพระชนมายุ 70 พรรษา และวาระครบรอบ 50 ปี ของความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-จีน

เรือเสวี่ยหลง 2 เป็นเรือตัดน้ำแข็ง เพื่อวิจัยขั้วโลกที่จีน พัฒนาขึ้นเอง มีความยาว 122.5 เมตร กว้าง 22.3 เมตร และสามารถจุผู้โดยสารกว่า 50 คน และลูกเรือ 40 คน เรือลำนี้สามารถตัดน้ำแข็ง หนา 1.5 เมตร ได้ทั้งเดินหน้า และถอยหลัง ทำให้สามารถปฏิบัติภารกิจในพื้นที่ขั้วโลกได้อย่างมีประสิทธิภาพ

เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม ที่ผ่านมา สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้าฯ เสด็จฯ เยี่ยมชมเรือเสวี่ยหลง 2 ด้วยความสนพระทัย  ทรงเยี่ยมชมห้องควบคุม ห้องปฏิบัติการ ห้องพัก และบริเวณโดยรอบเรือ ทรงยกย่องผลสำเร็จของจีนในการด้านวิจัยขั้วโลก  และผลสำเร็จจากความร่วมมือด้านการวิจัยตลอด 12 ปีที่ผ่านมา ของห้องปฏิบัติการร่วมวิจัยแอนตาร์กติกาไทย-จีนสิรินธร และทรงขอบคุณฝ่ายจีน ที่เปิดโอกาสให้นักวิทยาศาสตร์ไทย มีส่วนร่วมในโครงการสำรวจขั้วโลกของจีน

เรือเสวี่ยหลง 2 เข้าร่วม ภารกิจสำรวจขั้วโลกใต้ ครั้งที่ 41 ของจีน โดยมี นักวิจัยจากหลายประเทศ รวมถึงไทย เข้าร่วมในการศึกษาระบบนิเวศและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในมหาสมุทรใต้  ในโอกาสการมาเยือนของเรือเสวี่ยหลง 2  จึงมีการจัดกิจกรรมต่างๆ โดยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยร่วมกับสถาบันวิจัยขั้วโลกแห่งประเทศจีน (PRIC) และคณะกรรมการภาคีวิทยาศาสตร์ขั้วโลกแห่งประเทศไทย (PSCT) จัดการประชุมวิชาการนานาชาติหัวข้อ “เสว่ยหลง 2 และอนาคต : การพัฒนาการวิจัยขั้วโลก และความร่วมมือไทย–จีน ในสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง” เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2568 เพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์ และการวิจัยขั้วโลกระหว่างสองประเทศ รวมถึงการรับมือกับความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อมจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

นอกจากการประชุมวิชาการ ยังมีการจัดเสวนาระหว่างนักวิทยาศาสตร์ไทยและจีน ที่มีประสบการณ์ในการสำรวจขั้วโลกใต้กับเยาวชนไทย เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ นอกจากนี้ ยังมีการจัดนิทรรศการ “Xue Long 2 and See the Unseen in Polar Region” ที่ศูนย์การค้าสยามพารากอน ระหว่าง วันที่ 14–25 พฤษภาคม 2568 เพื่อเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับการวิจัยขั้วโลกและสร้างแรงบันดาลใจให้กับเยาวชนไทย

นอกจากนี้ การเปิดให้ประชาชนทั่วไปเยี่ยมชมเรือเสวี่ยหลง 2 ยังเป็นโอกาสที่ดีในการเสริมสร้างความเข้าใจ และมิตรภาพระหว่างประชาชนไทย และจีน ที่ผู้เข้าชมจะได้เรียนรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีการสำรวจขั้วโลก และบทบาทของจีนในการวิจัยด้านสิ่งแวดล้อมระดับโลก

การมาเยือนของเรือเสวี่ยหลง 2 และกิจกรรมที่เกี่ยวข้อง ไม่เพียงแต่เป็นการแสดงถึงความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-จีนที่แน่นแฟ้น แต่ยังเสริมสร้างความร่วมมือทางด้านวิทยาศาสตร์ การศึกษา ระหว่างไทยและจีน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาองค์ความรู้ด้านการวิจัยขั้วโลก และการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ในอนาคต

บทความ : ประวีณมัย บ่ายคล้อย / ภาพ : อพวช.

TAG : 0 0 Google +0 เขียนเมื่อ :  ศุกร์  30  พฤษภาคม  2568  17:02:59 เข้าชม : 1786995 ครั้ง

Load More In ที่ปรึกษากฎหมาย โดย ทนาย สุนทร พยัคฆ์
Comments are closed.

Check Also

PTT achieved eight Asian Excellence Awards with the most wins in Thailand

Recently – Mrs. Meena Supavivat, Executive Vice Preside … …