
เทคโนโลยี AI ถูกนำมาใช้อย่างเป็นรูปธรรมในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวจีน จุดเปลี่ยนสำคัญนี้ ไม่ได้เกิดขึ้นเพียง เพราะความก้าวหน้าในการพัฒนาเทคโนโลยี AI ของจีน เท่านั้น แต่ผู้ประกอบการท่องเที่ยวของจีน เข้าใจดี ว่า “การท่องเที่ยวยุคใหม่” ต้องให้ความสำคัญกับประสบการณ์ และความสะดวกสบายของนักท่องเที่ยว ซึ่งเทคโนโลยี AI สามารถช่วยตอบโจทย์นักท่องเที่ยวแต่ละคน ได้อย่างดีเยี่ยม
นักท่องเที่ยวจีน ยุค AI เริ่มหันมาใช้แพลตฟอร์ม AI อย่าง DeepSeek Kimi และ Doubao ช่วยวางแผนการ ทริปท่องเที่ยวแบบเฉพาะตัว เพียงแค่ระบุรายละเอียดที่ต้องการ อย่างงบประมาณที่ต้องการใช้ในการท่องเที่ยว ระยะเวลา กิจกรรมที่สนใจ เช่น สำรวจธรรมชาติ เรียนรู้ประวัติศาสตร์ หรือตามรอยร้านอาหารดัง ระบบ AI จะสร้างสรรค์แผนการท่องเที่ยวให้ โดยใช้เวลาเพียงไม่กี่วินาที แพลตฟอร์ม AI นี้ ไม่เพียงช่วยให้นักท่องเที่ยวประหยัดเวลา แต่ยังลดความเครียดในการวางแผนการเดินทาง และยังช่วยให้นักท่องเที่ยวมือใหม่ กล้าตัดสินใจออกเดินทางมากขึ้น ด้วย
เมื่อเดือนเมษายน ที่ผ่านมา Tuniu แพลตฟอร์มการท่องเที่ยวออนไลน์ของจีน เปิดตัว “Xiaoniu” ผู้ช่วยอัจฉริยะที่ขับเคลื่อนด้วย AI ซึ่งช่วยให้นักท่องเที่ยวสามารถค้นหาตั๋วเครื่องบิน ที่พัก รูปแบบการเดินทาง และกิจกรรมต่าง ๆ พร้อมเปรียบเทียบราคา วิเคราะห์ความคุ้มค่า และให้คำแนะนำนักท่องเที่ยวแบบเรียลไทม์ “Xiaoniu” ยังสามารถเรียนรู้จากพฤติกรรมการใช้งานของนักท่องเที่ยว ในแต่ละทริป เพื่อปรับคำแนะนำในครั้งถัดไป ทำให้ประสบการณ์การท่องเที่ยวของแต่ละคน ไม่เพียงสะดวกขึ้น แต่ตรงใจขึ้นทุกครั้งที่ใช้งาน
ขณะที่ผู้ประกอบการการท่องเที่ยว ผู้พัฒนาแหล่งท่องเที่ยว ยังนำเทคโนโลยี AI มาช่วยสร้างประสบการณ์ “เสมือนจริง” ให้กับนักท่องเที่ยวในการเที่ยวชมแหล่งท่องเที่ยวต่าง ๆ เช่น การเยี่ยมชมถ้ำโมเกา (Mogao Grottoes) ในตุนหว งมณฑลกานซู่ ผ่านแว่น VR หรือการใช้งานผู้ช่วยดิจิทัลอย่าง “Tang Xiaobao” ที่ศูนย์การค้า Grand Tang Mall ในเมืองซีอาน มณฑลส่านซี ที่สามารถโต้ตอบ ช่วยแนะนำร้านค้า เส้นทาง และกิจกรรมภายในศูนย์การค้าได้เสมือนเจ้าหน้าที่จริง
หลายเมืองของจีน ยังบริหารจัดการแหล่งท่องเที่ยว ด้วยเทคโนโลยี AI ซึ่งใช้ Big Data วิเคราะห์พฤติกรรมนักท่องเที่ยว เช่น ช่วงเวลาที่คนหนาแน่น จุดที่นักท่องเที่ยวชอบถ่ายรูป หรือเส้นทางที่นักท่องเที่ยวชอบเดิน เพื่อวางแผนกระจายนักท่องเที่ยว ลดความแออัด และรักษาสมดุลระหว่างการพัฒนาเศรษฐกิจกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมของเมือง เช่น เมืองหางโจว มณฑลเจ้อเจียง และเมืองเฉิงตู มณฑลเสฉวน ที่ติดตั้งระบบตรวจจับความเคลื่อนไหวแบบเรียลไทม์ ประเมินความหนาแน่นของผู้คน เพื่อให้นักท่องเที่ยวตัดสินใจ ไปยังจุดที่ยังไม่แออัด
นอกจากนี้ รัฐบาลจีน ยังสนับสนุนให้ภาคเอกชน และภาคการศึกษาพัฒนาแอปพลิเคชัน และนวัตกรรมด้านการท่องเที่ยวที่ใช้เทคโนโลยี AI ผ่านโครงการจัดการแข่งขัน เช่น โครงการ “Global Youth Tourism Startup” ที่เปิดเวทีให้ผู้ประกอบการรุ่นใหม่ ได้โชว์นำเสนอรูปแบบการพัฒนาการท่องเที่ยวด้วยเทคโนโลยี AI เช่น แอปพลิเคชันแปลภาษาอัจฉริยะ แบบเรียลไทม์ หรือแพลตฟอร์ม VR ที่พาเที่ยวเมืองโบราณแบบอินเทอร์แอคทีฟ
การขับเคลื่อนอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของจีน ด้วยเทคโนโลยี AI จึงทำให้นักท่องเที่ยวได้รับประสบการณ์การท่องเที่ยวใหม่ ที่มีคุณค่า และช่วยพลิกโฉมให้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของจีน เติบโต อย่างยั่งยืน
บทความ : ประวีณมัย บ่ายคล้อย / ภาพ : CGTN
TAG : 0 0 Google +0 เขียนเมื่อ : พุธ 21 พฤษภาคม 2568 18:14:59 เข้าชม : 1897325 ครั้ง