Home ข่าวเด่น ดิจิทัล นักวิจัย จุฬาฯ พัฒนา “ปะการัง สู้ โลกร้อน” เพื่อทางรอดระบบนิเวศ ทางทะเล

นักวิจัย จุฬาฯ พัฒนา “ปะการัง สู้ โลกร้อน” เพื่อทางรอดระบบนิเวศ ทางทะเล

10 second read
0
0
123

นักวิจัยสถาบันวิจัยทรัพยากรทางน้ำ จุฬาฯ พัฒนาแนวทางช่วยปะการัง ให้ปรับตัวรับมือกับภาวะโลกร้อน โดยการผสมเทียมอาศัยเพศ และเพาะเลี้ยงปะการังในสภาพแวดล้อมอุณหภูมิสูงตั้งแต่แรกเกิด เพื่อเพิ่มความอึดให้เป็น “ปะการังสู้โลกร้อน” พร้อมเผยเทคโนโลยีการแช่เยือกแข็งเซลล์สืบพันธุ์ปะการัง หวังคืนชีพปะการัง ในวันที่สภาพแวดล้อมในทะเลเหมาะสม

ปะการังทั่วโลก กำลังประสบกับภาวะเสื่อมโทรม จากหลายปัจจัย ทั้งกิจกรรมของมนุษย์ เช่น การท่องเที่ยว การประมง และมลพิษต่าง ๆ ตลอดจนผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ที่ส่งผลให้น้ำทะเลมีอุณหภูมิสูงขึ้น เป็นเหตุให้เกิดปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาว  ทั้งนี้ นักวิทยาศาสตร์คาดการณ์ว่าหากสถานการณ์ยังคงดำเนินต่อไปเช่นนี้ ในอีก 30 ปี ข้างหน้า ปะการังทั่วโลกมากกว่า 90% อาจเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ เมื่อปะการังสูญพันธุ์ ความสมบูรณ์และสมดุลของระบบนิเวศทางทะเลก็จะหายไปด้วย อันจะส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อาหารและสภาพอากาศอย่างเลี่ยงไม่ได้

แน่นอนว่า สภาพภูมิอากาศแปรปรวนจะยังคงอยู่ โลกจะใช้เวลาในการปรับสมดุลนานแค่ไหน ยากที่จะทำนาย สิ่งมีชีวิตต่าง ๆ จึงจำต้องปรับตัวเพื่อให้อยู่ได้และอยู่รอดในภาวะโลกร้อน ดังนั้น โจทย์สำคัญที่นักวิจัยหลายคนพยายามหาคำตอบคือ ทำอย่างไรปะการังอยู่รอดในภาวะโลกร้อน?

ศาสตราจารย์ ดร.สุชนา ชวนิชย์ ภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รองผู้อำนวยการ สถาบันวิจัยทรัพยากรทางน้ำ และรองกรรมการผู้อำนวยการ ศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาฯ พยายามหาคำตอบนี้ และจากการศึกษาทดลองเพาะเลี้ยงขยายพันธุ์ปะการังหลายรุ่น มาตั้งแต่ ปี 2548 ที่สถานีวิจัยวิทยาศาสตร์ทางทะเลและศูนย์ฝึกนิสิต เกาะสีชัง จังหวัดชลบุรี ก็พบว่า ปะการัง สามารถปรับตัว เพื่อความอยู่รอดในภาวะโลกร้อนได้ดี เมื่อปะการังถูกเลี้ยงในสภาพแวดล้อมที่อุณหภูมิสูงตั้งแต่แรกเกิด” และนี่คือ ที่มาของการขยายพันธุ์ และเพาะเลี้ยง “ปะการังสู้โลกร้อน”  ศาสตราจารย์ ดร.สุชนา ชวนิชย์ กล่าว

ขยายพันธุ์ปะการังด้วยเทคนิคผสมเทียม

ศ. ดร.สุชนาให้ความรู้โดยย่อเกี่ยวกับปะการังและการขยายพันธุ์ของปะการังว่า “ปะการังเป็นสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง อาศัยอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม (Colony) ตามโขดหินในทะเล ปะการังเป็นทั้งที่อยู่และแหล่งอาหารของสัตว์ต่าง ๆ”

โดยธรรมชาติ ปะการังขยายพันธุ์ 2 วิธี ได้แก่

  1. สืบพันธุ์แบบอาศัยเพศคือ การที่ปะการังปล่อยไข่ และสเปิร์มออกมาผสมกันในน้ำ ในช่วงคืนวันเพ็ญ ซึ่งมีโอกาสรอดเติบโตเป็นปะการัง เพียง 001% เท่านั้น (ทั้งถูกสัตว์น้ำกิน และไม่ปฏิสนธิ)
  2. สืบพันธุ์แบบไม่อาศัยเพศ คือ ปะการัง ที่หักออกมาจากปะการังเดิม ถ้าหักมาตกในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมก็จะสามารถเจริญเติบโตเป็นกลุ่มปะการังใหม่ได้ การขยายพันธุ์แบบนี้ ทำให้ปะการังมีโอกาสรอด 50% แต่ความหลากหลายของสายพันธุ์จะต่ำ

“การขยายพันธุ์ตามธรรมชาติของปะการังทั้ง 2 แบบดังกล่าวนั้น ค่อนข้างใช้เวลานาน ยิ่งในสภาวะโลกร้อน การผสมพันธุ์แบบอาศัยเพศยิ่งลดลงไปมาก ถ้าเราปล่อยให้ปะการังฟื้นฟูขยายพันธุ์ด้วยตัวเองตามธรรมชาติ ปะการังอาจเติบโตทดแทนปะการังที่ตายจากภาวะปะการังฟอกขาวไม่ทัน และเสี่ยงสูญพันธุ์ในอีกไม่ช้า” ศ. ดร.สุชนา กล่าว

สถาบันวิจัยทรัพยากรทางน้ำ และคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ ร่วมกับ โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี  และหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษทางเรือ กองทัพเรือ จึงพยายามขยายพันธุ์ปะการังด้วย เทคนิคผสมเทียม” คือ การเลียนแบบการผสมพันธุ์ตามธรรมชาติของปะการัง

ศ. ดร.สุชนา อธิบายการขยายพันธุ์ปะการังด้วยเทคนิคผสมเทียม ว่า “นักวิจัยจะลงเก็บเซลล์สืบพันธุ์ ทั้งไข่และสเปิร์มของปะการังในคืนเดือนเพ็ญ ซึ่งเป็นช่วงที่ปะการังทั่วท้องทะเลพร้อมผสมพันธุ์ โดยการปล่อยสเปิร์มและไข่ออกมาพร้อมกัน แล้วนำเซลล์สืบพันธุ์เหล่านี้มาผสมพันธุ์ในบ่อเพื่อให้เกิดการปฏิสนธิ จนเกิดเป็นตัวอ่อนปะการัง แล้วจึงเตรียมวัสดุคืออิฐมอญ เพื่อให้ตัวอ่อนปะการังลงเกาะและเติบโตในโรงเพาะเลี้ยงเป็นเวลา 2 ปี ก่อนจะนำปะการังเหล่านี้กลับลงสู่ทะเลให้เติบโตอีก 3 ปี เมื่อปะการังอายุ 5 ปีปะการังก็จะพร้อมออกไข่ครั้งแรกได้ วิธีนี้ทำให้ปะการังมีโอกาสรอดและเติบโตสูงขึ้น”

จำลองสภาวะโลกร้อน เร่งปะการังปรับตัวตั้งแต่แรกเกิด

ไม่เพียงการขยายพันธุ์ เพื่อเพิ่มจำนวนปะการัง แต่ยังต้องเพิ่มความอึดต่อภาวะโลกร้อน ให้กับปะการังที่เกิดใหม่ด้วย ซึ่งกระบวนการนี้ ทีมวิจัยของ ศ. ดร.สุชนาจะนำตัวอ่อนปะการังที่เกิดจากการสืบพันธุ์แบบผสมเทียมมาอนุบาลในโรงเพาะเลี้ยงที่มีอุณหภูมิสูง 34 องศาเซลเซียส (น้ำทะเลปกติมีอุณหภูมิ 30-32 องศาเซลเซียส) โรงเรือนเพาะเลี้ยงปะการัง ณ เกาะแสมสาร จ.ชลบุรี  “ปะการังบางตัว ทนความร้อนในน้ำไม่ไหว ก็จะตายตั้งแต่ตอนอยู่ในโรงเรือน ส่วนปะการังที่ปรับตัวได้ก็จะรอด และพร้อมสำหรับโอกาส ที่จะไปเติบโตในท้องทะเล ต่อไป”

เมื่อครบกำหนดระยะเวลา 2 ปี ทีมวิจัยก็นำตัวอ่อนปะการังที่รอดเหล่านี้ลงสู่ทะเล

“เราพบว่าปะการังเหล่านี้มีการปรับตัวให้ทนต่อน้ำทะเลที่มีอุณหภูมิสูงได้มากกว่าปะการังตามธรรมชาติ จึงทำให้มีโอกาสรอดจากการฟอกขาวได้มากขึ้น ถือเป็น “ปะการังสู้โลกร้อน” ที่เกิดขึ้นจากการปรับตัวเพื่อความอยู่รอดตั้งแต่เด็ก”

ปะการังที่เติบโตจากการผสมเทียม

จากการติดตามและเฝ้าสังเกต ศ. ดร.สุชนา กล่าวว่า “หลังจากที่ลูกปะการังสู้โลกร้อนถูกปล่อยลงทะเล  มีการเติบโต และกลายเป็นพ่อแม่พันธุ์ที่สามารถสืบพันธุ์เหมือนปะการังตามธรรมชาติ โดยพบครั้งแรกแล้วเมื่อปี 2566!”

“ปะการัง จะปล่อยเซลล์สืบพันธุ์สีชมพูขนาดจิ๋ว จำนวนมาก ออกมาในน้ำทะเลพร้อม ๆ กัน ซึ่งเมื่อเกิดปรากฏการณ์นี้ ทีมนักวิจัยก็จะออกดำน้ำเก็บเซลล์สืบพันธุ์เหล่านี้ มาช่วยขยายพันธุ์ต่อผ่านการผสมเทียม เป็นปะการังสู้โลกร้อนรุ่นต่อ ๆ ไป”

นักวิจัยปะการัง

ศ. ดร.สุชนา เผยว่า ค่าใช้จ่ายในการอนุรักษ์ปะการังด้วยเทคนิคผสมเทียม และดูแลในโรงเพาะตลอด 2 ปี อาจมีมูลค่าค่อนข้างสูง กล่าว คือ 100 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัวอ่อนปะการัง 1 ตัว เมื่อเทียบกับการหักปักชำปะการัง ซึ่งมีค่าใช้จ่ายเพียง 1 ดอลลาร์สหรัฐต่อปะการัง 1 ต้น

“แต่เมื่อดูอัตราการรอดตายจากการฟอกขาวแล้ว ก็ถือว่า คุ้มแก่การลงทุน เพราะเราจะได้ปะการังพันธุ์ใหม่ ที่ผ่านการเรียนรู้ และทนต่อน้ำทะเลที่อุณหภูมิสูงขึ้น จากสภาวะโลกร้อนได้” ศ. ดร.สุชนา กล่าว

อนุรักษ์ปะการังด้วยเทคโนโลยีการแช่เยือกแข็ง

แม้ทีมวิจัยภายใต้การนำของ ศ. ดร.สุชนา จะพบวิธีเพาะเลี้ยงและเพิ่มจำนวนปะการัง ในทะเล แต่การขยายพันธุ์ของปะการังในธรรมชาติ ก็ยังขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมในทะเล

“ปะการังสืบพันธุ์เพียงไม่กี่ครั้งต่อปี โดยจะสืบพันธุ์ในสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยเท่านั้น เช่น อุณหภูมิ คืนพระจันทร์เต็มดวง และการไหลของกระแสน้ำ ปัจจุบัน ภาวะโลกร้อนทำให้ปะการังไม่ปล่อยเซลล์สืบพันธุ์ตามฤดูกาล จึงเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ของปะการังในอนาคต”

ด้วยข้อห่วงใยนี้ ศ. ดร.สุชนาจึงได้ร่วมกับทีมวิจัยไต้หวัน (Dr. Chiahsin Lin) ทดลองนำ เทคโนโลยีการแช่เยือกแข็งเซลล์สืบพันธุ์ปะการัง” ที่เก็บจากท้องทะเลเพื่ออนุรักษ์ปะการังในอนาคต

“ปะการังทุกชนิด ล้วนมีความสำคัญต่อระบบนิเวศทางทะเล ดังนั้น การอนุรักษ์ปะการังที่ดี คือ การช่วยให้ปะการังทุกชนิดมีโอกาสสืบพันธุ์และเติบโตได้ดี การเก็บเซลล์สืบพันธุ์ปะการังในวันนี้ จึงจำเป็นต้องเก็บให้หลากหลายสายพันธุ์มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อจะนำมาใช้ในอนาคตเมื่อสภาพแวดล้อมเหมาะสมปะการังจะกลับมามีชีวิตอีกครั้ง”

ศ. ดร.สุชนา ให้ข้อมูลเพิ่มเติม ว่า ปัจจุบันทีมวิจัยไทยประสบความสำเร็จ ในการแช่เยือกแข็งสเปิร์ม แล้ว ส่วนการแช่เยือกแข็งไข่ยังอยู่ระหว่างทดลอง โดยหวังว่า นี่อาจเป็นหนึ่งทางรอดในการอนุรักษ์ปะการังให้คงอยู่ในสภาวะโลกรวนนี้

อนาคตของการอนุรักษ์ปะการัง

อาจารย์สุชนา กล่าวทิ้งท้าย ว่า การอนุรักษ์ปะการัง ไม่สามารถทำได้เพียงลำพัง โดย นักวิทยาศาสตร์ แต่ต้องดำเนินการในหลายมิติ ทั้งการฟื้นฟูแนวปะการัง การลดมลพิษและการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การสนับสนุนงบประมาณระยะยาว จากภาครัฐ และเอกชน รวมถึงการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน โดยเฉพาะภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนทั่วไป จะเป็นกุญแจสำคัญในการปกป้อง และฟื้นฟูปะการังให้คงอยู่ต่อไป ในอนาคต ซึ่งหากมีการดำเนินการที่เหมาะสม ปะการัง อาจสามารถฟื้นตัว และคงอยู่เป็นระบบนิเวศที่สำคัญของท้องทะเล ต่อไปได้

อ่านบทความฉบับเต็ม ได้ที่ https://www.chula.ac.th/highlight/230691/

TAG : 0 0 Google +0 เขียนเมื่อ :  เสาร์ 3 พฤษภาคม  2568  11:00:00 เข้าชม : 1679844  ครั้ง

Load More Related Articles
Load More By admin
Load More In ข่าวเด่น ดิจิทัล
Comments are closed.

Check Also

AirAsia MOVE Mega Sale 5.5 ลดกระหน่ำ เดือนพฤษภาคม ลดทั้งแอปกลับ มาแล้ว ! ลดหนัก จัดเต็ม !

กรุงเทพ 3 พฤษภาคม 2568 – AirAsia MOVE เผย เทศกาลเ … …