
24 เมษายน 2025 จีนปล่อยยานอวกาศ เสินโจว-20 (Shenzhou-20) จากศูนย์ปล่อยดาวเทียมจิ่วเฉวียน มณฑลกานซู่ขึ้นสู่อวกาศ เพื่อสานต่อภารกิจอวกาศจากทีมเสินโจว-19 พร้อมเป้าหมายในการพัฒนาสถานีอวกาศ “เทียนกง” ให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น
ภารกิจเสินโจว-20 นี้ มีนักบินอวกาศ 3 คนร่วมปฏิบัติภารกิจสำรวจอวกาศ ได้แก่ เฉิน ตง (Chen Dong) ผู้บัญชาการภารกิจเสินโจว-20 ซึ่งเคยมีประสบการณ์ปฏิบัติภารกิจในอวกาศจากภารกิจเสินโจว-11 และเสินโจว-14 มาแล้ว เฉิน จงรุ่ย (Chen Zhongrui) อดีตนักบินกองทัพอากาศ ซึ่งเดินทางสู่อวกาศเป็นครั้งแรก และหวัง เจี๋ย (Wang Jie) วิศวกรจากบริษัทเทคโนโลยีอวกาศแห่งชาติจีน ซึ่งเดินทางสู่อวกาศเป็นครั้งแรกเช่นกัน
เฉิน ตง กล่าวถึงเพื่อนร่วมทีมเสินโจว-20 ว่า ทีมนี้คือทีมที่สมบูรณ์แบบ มีความคล่องแคล่ว และละเอียดรอบคอบ ทั้งสามคนแบ่งหน้าที่กันอย่างชัดเจน และจะร่วมมือกันปฏิบัติภารกิจเสินโจว-20อย่างไร้รอยต่อ เฉิน จงรุ่ย กล่าวว่า ตอนนี้ทั้งสามคนรวมเป็นทีมเดียวกัน และทำงานประสานกันเหมือนร่างเดียว ขณะที่หวัง เจี๋ย ซึ่งรับหน้าที่เป็นวิศวกรอวกาศระบุว่า ภารกิจของเขาคือการดูแลระบบ ซ่อมบำรุงอุปกรณ์ จัดการปัญหาเฉพาะหน้า และทำการทดลองทางวิทยาศาสตร์ เช่น เทคโนโลยีต้านแรงโน้มถ่วง และการปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับเครื่องจักร
เมื่อทีมเสินโจว-20 เดินทางถึงเสถานีอวกาศเทียนกง พวกเขาได้รับมอบงานบนสถานีอวกาศจากทีมเสินโจว-19 อย่างเป็นทางการ โดยมีภารกิจสำคัญคือ การดูแลระบบของสถานีอวกาศเทียนกง การเดินนอกยานอวกาศเพื่อติดตั้งและบำรุงรักษาอุปกรณ์ นอกจากนี้ ทีมนักบินอวกาศมีแผนทำการทดลองด้านวิทยาศาสตร์ในอวกาศหลายโครงการ อาทิ โดยมีการนำปลาม้าลาย (Zebrafish) พลานาเรียน (Planarian) เชื้อสเตรปโตมัยซิส (Streptomyces) ขึ้นไปทำการทดลองในอวกาศด้วย
หนึ่งในการทดลองสำคัญคือ การศึกษาการฟื้นฟูอวัยวะของพลานาเรียนในสภาวะไร้น้ำหนัก ถือเป็นครั้งแรกของจีนที่มีการศึกษาเรื่องนี้ในอวกาศ ซึ่งการศึกษาเรื่องนี้จะข่วยต่อยอดองค์ความรู้การฟื้นฟูระดับเซลล์ของพลานาเรียน นอกจากนี้ ยังมีการต่อยอดการศึกษาเรื่อง “ความสมดุลของโปรตีน” ของปลาม้าลายและพืชใต้น้ำ ที่เคยทดลองในภารกิจเสินโจว-18 เพื่อศึกษาการลดมวลกระดูกและปัญหาหัวใจในสภาพไร้แรงโน้มถ่วง และการทดลองเกี่ยวกับสเตรปโตมัยซิส ที่มุ่งวิเคราะห์การแสดงออกของสารออกฤทธิ์ชีวภาพและเอนไซม์ในอวกาศ เพื่อปูทางสู่การพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพที่สามารถใช้ทรัพยากรจากอวกาศในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ได้
นอกเหนือจากการทดลองทางชีววิทยาแล้ว ทีมเสินโจว-20 ยังมีแผนทดลองทางวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีรวม 59 โครงการ ในสาขาต่างๆ อาทิ ฟิสิกส์ในภาวะไร้น้ำหนัก การเตรียมวัสดุใหม่ เช่น วัสดุตัวนำยิ่งยวดที่อุณหภูมิสูง เป็นต้น
ภารกิจอวกาศเสินโจว-20 จึงเป็นอีกหนึ่งก้าวบนเส้นทางอวกาศของจีน เพื่อยกระดับศักยภาพด้านวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีอวกาศของจีน และยังเป็นการเตรียมความพร้อมในการสำรวจดวงจันทร์ และดาวอังคารในอนาคต เพื่อทำให้จีนก้าวไปสู่การเป็นมหาอำนาจด้านอวกาศ ต่อไป
บทความ : ประวีณมัย บ่ายคล้อย / ภาพ : CGTN
TAG : 0 0 Google +0 เขียนเมื่อ : เสาร์ 9 พฤษภาคม 2568 16:14:59 เข้าชม : 1897553 ครั้ง