
มูลนิธิ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ ร่วมกับ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) จัดกิจกรรม Special BAB Talk โดย “ไมเคิล เอล์มกรีน” (Michale Elmgreen) ศิลปินชาวเดนมาร์ก จากกลุ่ม ไมเคิล เอล์มกรีน (Michale Elmgreen) และ อินการ์ แดรกเซท (Ingar Dragset) ที่โด่งดังไปทั่วโลก เจ้าของผลงาน “Zero” งานประติมากรรมรูปสระว่ายน้ำ คล้ายเลขศูนย์ ซึ่งปัจจุบันจัดแสดงอยู่บริเวณ หน้า โครงการ วัน แบงค็อก รวมถึงศิลปินชาวเกาหลีใต้ “ยองจุน ทัค” (Young-jun Tak) เจ้าของผลงานภาพยนตร์ “Love Your Clean Feet on Thursday” ที่ท้าทายบรรทัดฐานของเรื่องเพศสภาพ ผู้สร้างสรรค์ผลงานอันน่าทึ่งในงาน บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2024 โดยมี ศาสตราจารย์ ดร.อภินันท์ โปษยานนท์ ประธานอำนวยการ และผู้อำนวยการศิลป์ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ เป็นผู้ดำเนินรายการเสวนา ในครั้งนี้
ไมเคิล เอล์มกรีน (เกิด พ.ศ. 2504, โคเปนเฮเกน, เดนมาร์ก) พำนักและทำงานอยู่ที่เบอร์ลิน, เยอรมนี งาน Still Life ผลงานของ ไมเคิล เอล์มกรีน และ อินการ์ แดรกเซท เป็นมือเด็กสองข้างที่โผล่ออกมาจากกำแพงถือนกกระจอกที่ยังหายใจอยู่ นกที่ดูเหมือนมีชีวิตขัดแย้งกับรูปปั้นมือเคลือบขาว นกสตัฟฟ์นี้มีกลไกในการเคลื่อนไหวส่วนต่าง ๆ สามารถสั่นและอ้าปากเพื่อหายใจได้และเคลื่อนไหวไม่มากแบบนกบาดเจ็บ ด้วยมือที่เหยียดยื่นออกมา Still Life ดูเหมือนจะสื่อสารกับผู้ชมโดยตรงขอให้เราทำอะไรบางอย่าง แต่เราก็ทำอะไรไม่ได้ เราไม่มีอำนาจ ตามลักษณะดังกล่าวงานชิ้นเกี่ยวข้องกับกลุ่มงานของเอล์มกรีน & แดรกเซทที่เรียกว่า งานปฏิเสธ (denial works) หมายถึงงานที่เหมือนจะเชื้อเชิญให้ผู้ชมมีปฏิกิริยาตอบสนองแต่สุดท้ายแล้วก็ปล่อยให้เราเป็นเพียงพวกถ้ำมองที่ไม่สมหวัง ตัวอย่างงานปฏิเสธซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีได้แก่ Prada Marfa ที่ปิดอย่างถาวรไปแล้วและ Powerless Structures, Fig. 11 กระดานโต้คลื่นซึ่งทะลุออกมาจากบานหน้าต่างของพิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัยลุยเซียนาที่ประเทศเดนมาร์ค
อีกหนึ่งผลงานที่สร้างชื่อเสียงให้กับศิลปิน ไมเคิล เอล์มกรีน และ อินการ์ แดรกเซท คือ ประติมากรรมสาธารณะที่โดดเด่นท้าทายสายตาและมุมมองของผู้คน ด้วย ’Zero’ ที่ออกแบบมาจากสระว่ายน้ำในแนวตั้งเปิดวิสัยทัศน์ใหม่ ๆ ให้กับผู้คนที่รับชมได้เติมความหมายของตนเองลงไปในช่องว่างกลางผลงาน เป็นสระว่ายน้ำขนาดใหญ่คล้ายใบหูที่วางตะแครงและตั้งฉากความสูง 8 เมตร ที่ทำจากสแตนเลสสตีลและรูปทรงนามธรรม เป็นสระว่ายน้ำที่ใช้การไม่ได้ แต่ก็ทำให้เรานึกถึงช่วงวันหยุดและดารจัดปาร์ตี้ริมสระว่ายน้ำ ผู้สร้างสรรค์วันหยุดจากดินแดนที่อากาศหนาวเย็นเชื่อมโยงด้วยสระน้ำที่ทำให้เราคิดถึงหน้าร้อนและแสงแดดอุ่น การออกแบบลายเส้นแบบ “มินิมอล” กลับทำให้เกิดผลกระทบต่อจิตใจของผู้ชมอย่างมาก มีคนเดินมาชมงานอย่างต่อเนื่องตลอดเทศกาล ‘Zero’ พร้อมต้อนรับทุกคนและผู้ที่สัญจรบนถนนพระราม 4 ณ บริเวณ พาเหรด ปาร์ค วัน แบงค็อก
ยองจุน ทัค เกิด พ.ศ. 2532, โซล, เกาหลีใต้ พำนักและทำงานอยู่ที่เบอร์ลิน, เยอรมนี งาน Love Your Clean Feet on Thursday ท้าทายบรรทัดฐานการแบ่งเป็นสองเพศ แสดงภาพพิธีกรรมสาธารณะ และการออกแบบลีลาให้ร่างกาย และการเคลื่อนไหวของผู้ชาย นำความเป็นชายแบบสุดขั้วในขบวน Maundy Thursday อันน่าตื่นตาที่กองทหารสเปนขนย้ายไม้กางเขนที่เมืองมาลากา ในช่วงสัปดาห์ศักดิ์สิทธิ์ก่อนวันอาทิตย์อีสเตอร์ มาเทียบกับความเป็นหญิงแบบสุดขั้วที่ยกย่องนับถือโดยนักเต้นชายหลายคนผู้ยกตัวเอกผู้หญิงขึ้นแล้วแบกไปอย่างสม่ำเสมอในบัลเลต์เรื่อง Manon (1974) ที่เคนเน็ธ แม็คมิลลันออกแบบท่าเต้น ตลอดภาพยนตร์ทั้งเรื่องภาพพิธีกรรมคาทอลิกตัดสลับกับลีลาการเต้นของนักเต้นผู้ชายเกย์หกคน ในเขตป่ากรูเนอวัลท์ที่กรุงเบอร์ลิน อันโด่งดัง ที่พวกเกย์ชอบไปเดินหาคู่ช่วยเติมช่องว่างระหว่างการนำเสนอเพศภาวะแบบแบ่งขั้วโดยตั้งคำถามกับความแตกต่างที่ปรากฏ และแสดงให้เห็นความเหมือนที่แปลกประหลาด ตามที่ปรากฏในผลงาน การทำงานของยองจุน ทัคตรวจสอบกลไกทางสังคมวัฒนธรรมและจิตวิทยาที่กำหนดระบบความเชื่อต่าง ๆ และมักเผยให้เห็นเรือนร่างมนุษย์ ในบริบทการทำให้บรรทัดฐาน และขนบต่าง ๆ เป็นขั้วด้วยความพยายามวิจารณ์สถาบันทางสังคม
ติดตามข่าวสาร และตารางกิจกรรมของเทศกาลศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ Bangkok Art Biennale เพิ่มเติมได้ทาง Facebook และ Instagram : Bkkartbiennale
TAG : 0 0 Google +0 เขียนเมื่อ : อังคาร 6 พฤษภาคม 2568 15:37:59 เข้าชม : 1675998 ครั้ง