
ปัจจุบันโลกของเรา กำลังเผชิญการเปลี่ยนแปลงอย่างใหญ่หลวง ในหลายมิติ ทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และ สิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ผ่านมา ยิ่งทำให้การพัฒนาในด้านต่าง ๆ ต้องเจอความท้าทายอย่างหนักหน่วง เราจึงได้เห็นหลายประเทศทั่วโลก หันมาจับมือ เพื่อบรรลุการพัฒนาที่แข็งแกร่ง และ ยั่งยืนมากยิ่งขึ้นร่วมกัน
จีน ในฐานะมหาอำนาจของโลก ก็ได้ให้ความสำคัญกับการสร้างสภาพแวดล้อม ที่สันติ และ มีเสถียรภาพ สำหรับการพัฒนาที่ยั่งยืนเช่นกัน โดยประเทศจีนภายใต้การนำของประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ได้เสนอ “ข้อริเริ่มว่าด้วยการพัฒนาระดับโลก” (Global Development Initiative) สู่ประชาคมโลก เพื่อวิงวอนให้ทุกฝ่าย ร่วมกันบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน หรือ Sustainable Development Goals (SDGs) ปี 2030 ของสหประชาชาติ ซึ่งถือเป็นวาระเร่งด่วนที่ต้องอาศัยความร่วมมือ อย่างจริงจัง
ข้อริเริ่ม ว่าด้วยการพัฒนาระดับโลกของจีน มีอะไรบ้าง ?
เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม หาน จื้อเฉียง เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย ได้กล่าวปาฐกถา ในงานประชุมวิชาการนานาชาติเกี่ยวกับการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งจัดโดยสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA) โดยตอนหนึ่งท่านทูตได้อธิบาย และ ถ่ายทอดถึงข้อริเริ่มว่าด้วยการพัฒนาระดับโลกของจีนไว้ดังนี้
ประการที่ 1 ยึดมั่นในเส้นทางสังคมนิยมที่มีเอกลักษณ์จีน เงื่อนไขปัจจัยของประเทศต่าง ๆ ในโลกนั้นแตกต่างกัน เราต้องเริ่มจากสภาพที่เป็นจริงของประเทศ และ เลือกเส้นทางการพัฒนาและรูปแบบการพัฒนาที่เหมาะสม สำหรับประเทศตนเอง
ประการที่ 2 จัดการความสัมพันธ์ระหว่างการพัฒนา การปฏิรูป และ ความมั่นคงอย่างถูกต้อง การพัฒนาเป็นกุญแจสำคัญในการแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจและสังคมทั้งปวง การปฏิรูปเป็นแรงผลักดันที่ทรงพลัง สำหรับการพัฒนาเศรษฐกิจ และ สังคม และความมั่นคงเป็นเงื่อนไขแรกสำหรับการปฏิรูป และ การพัฒนา
ประการที่ 3 ยึดมั่นในแนวความคิดที่ถือประชาชนเป็นศูนย์กลาง จุดมุ่งหมายของการพัฒนาคือเพื่อบรรลุความปรารถนาของประชาชนต่อชีวิตที่ดีขึ้น การมีส่วนร่วมและความพยายามฟันฝ่าต่อสู้ของประชาชนเป็นที่มาของพลังอันเข้มแข็งในการพัฒนา
ประการที่ 4 ปฏิบัติตามแนวคิด การอยู่ร่วมกันอย่างกลมกลืนของมนุษย์ และ ธรรมชาติ “น้ำใสและเขาเขียวเป็นภูเขาเงินภูเขาทอง” ประโยคทองของปธน.สี จิ้งผิง แสดงให้เห็นถึงความแน่วแน่ในการส่งเสริมการสร้างอารยธรรมทางนิเวศ และ ส่งเสริมการสร้างประชาคม ที่มีอนาคตร่วมกันระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ ต่อไป
ประการที่ 5 เดินหน้าตามกระแสของยุคสมัยที่มีการเปิดกว้าง และ ได้ประโยชน์ร่วมกัน ยึดมั่นการเปิดกว้าง และ เสริมสร้างการเชื่อมต่อกับตลาดโลก เชื่อมโยงทางอุตสาหกรรม และ เชื่อมต่อทางกฎเกณฑ์อย่างต่อเนื่อง โดยยึดมั่นในแนวคิดการพัฒนาใหม่แห่งนวัตกรรม สมดุล เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เปิดกว้าง และ แบ่งปันผลประโยชน์ร่วมกัน
ท่านทูตยังเน้นย้ำอีกว่า จีนสนับสนุน และ ปฏิบัติตามค่านิยม ร่วมกันของมวลมนุษยชาติ ซึ่งประกอบด้วยสันติภาพ การพัฒนา ความเป็นธรรม ความยุติธรรม ประชาธิปไตย และ เสรีภาพ อย่างแข็งขัน ดังนั้น ทุกชาติในโลก จึงไม่ควรสร้างปัจจัยลบต่อการพัฒนา และ ควรยึดมั่นในหลักการพื้นฐานของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เคารพซึ่งกันและกันในอธิปไตย จึงจะสามารถจับมือกันพัฒนาได้อย่างราบรื่น
ทั้งนี้ สิ่งที่จีนริเริ่มได้ผลิดอกออกผล และ ปรากฏสู่สายตาประชาคมโลกแล้ว โดยเมื่อปี 2021 จีดีพีของจีนอยู่ที่ 17.7 ล้านล้านดอลลาร์ สหรัฐ คิดเป็น 18% ของจีดีพีโลก จีดีพีต่อหัว อยู่ที่ 12,500 ดอลลาร์ สหรัฐ จีนได้สร้างสังคมอยู่ดีกินดีอย่างรอบด้าน ขจัดความยากจนได้สำเร็จเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ นอกจากนี้ ในมิติด้านสิ่งแวดล้อมจีนมีเป้าหมายเพิ่มจำนวนผืนป่า ฟื้นฟูระบบนิเวศ และลดปริมาณคาร์บอนให้เป็นศูนย์อีกด้วย โดยมีรายงานว่า 8 เดือนแรกของปี 2021 ปริมาณ PM2.5 ในกรุงปักกิ่งลดลงต่ำสุดเป็นประวัติการณ์
ด้วยเหตุนี้ข้อริเริ่มดังกล่าวของจีน จึงเปรียบเสมือนพิมพ์เขียวของการพัฒนาโลก ที่จะนำมาซึ่งความผาสุกของประชาชน ไทยเองก็นับเป็นหนึ่งในประเทศที่มีการศึกษา และ ร่วมมือกับจีนมาโดยตลอด เนื่องจากแนวทางการพัฒนาของประเทศไทย มีความสอดคล้องกับจีน โดยเฉพาะการส่งเสริมรูปแบบเศรษฐกิจ BCG ที่เป็นการพัฒนาแบบองค์รวมในการพัฒนา 3 เศรษฐกิจไปพร้อมกัน ได้แก่ เศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy) มุ่งเน้นการใช้ทรัพยากรชีวภาพ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม พัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์มูลค่าสูง เชื่อมโยงกับ เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ที่คำนึงถึงการนำวัสดุต่าง ๆ กลับมาใช้ประโยชน์ให้มากที่สุด และ ทั้ง 2 เศรษฐกิจจะอยู่ภายใต้เศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) ซึ่งเป็นการพัฒนาเศรษฐกิจที่ไม่ได้มุ่งเน้นเพียงการพัฒนาเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ต้องพัฒนาควบคู่ไปกับการพัฒนาสังคมและการรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุลให้เกิดความมั่นคงและยั่งยืนไปพร้อมกัน
นอกจากนี้ องค์กรต่างๆ ในประเทศไทยทั้งภาครัฐ และ เอกชน ก็กำลังตื่นตัวลุกขึ้นมาให้ความสำคัญกับแนวคิด ESG ซึ่งเป็นกรอบการพัฒนาที่ใช้ขับเคลื่อนธุรกิจให้เติบโตควบคู่ไปกับการคำนึงถึง 3 ปัจจัยหลัก ได้แก่ การจัดการด้านสิ่งแวดล้อม (Environmental) การจัดการด้านสังคม (Social) และการจัดการด้านธรรมาภิบาล(Governance) ซึ่งล้วนมีความเชื่อมโยง และ เกื้อหนุนกัน สนับสนุนกิจการให้เติบโตอย่างยั่งยืน
ในปัจจุบันแนวคิดการพัฒนาทั้ง BCG และ ESG กำลังเป็นเทรนด์ของโลก ที่ได้รับความสนใจอย่างกว้างขวาง ไม่ว่าจะเป็นองค์กรระดับมหภาค และจุลภาค รวมถึงประชาชนทั่วไป เราจึงได้เห็นโครงการด้านความยั่งยืนเกิดขึ้นมากมาย ในปัจจุบัน ทั้งหมดสอดคล้องกับข้อริเริ่ม ว่าด้วยการพัฒนาระดับโลกที่ประเทศจีนนำเสนอ เพื่อบรรลุเป้าหมายความยั่งยืนโลก SDGs ของประชาคมโลก ซึ่งแน่นอนว่าทุกคน ทุกชาติ ต้องร่วมด้วยช่วยกัน จึงจะเกิดความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม นำไปสู่ความผาสุกอย่างที่ทุกคนคาดหวังไว้
เรียบเรียง โดย อาจารย์กอบกิจ ประดิษฐผลพานิช คณบดีกลุ่มวิชาการ 2 คณะนิเทศศาสตร์ ม.ธุรกิจบัณฑิตย์
TAG : 0 0 Google +0 เขียนเมื่อ : 30 กันยายน 2565 22:59:59 เข้าชม : 1985667 ครั้ง