
ในช่วง ที่ นายสีจิ้นผิง ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ได้เข้าร่วมการประชุมเอเปค ในช่วง วันที่ 18-19 พฤศจิกายน 2565 ที่ผ่านมา นั้น ได้สร้างความปลาบปลื้มยินดีกับชาวไทย เชื้อสายจีน, นักศึกษา และ ประชาชนชาวจีน ที่อยู่ในประเทศไทยเป็นอย่างมาก เพราะเป็นครั้งแรกที่ สีจิ้นผิง มาเยือนประเทศไทย ในตำแหน่งประธานาธิบดี โดยก่อนหน้านี้ สีจิ้นผิง ได้มาเยือนประเทศไทยในปี พ.ศ. 2554 เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรองประธานาธิบดี
การที่จีนก้าวขึ้นเป็นประเทศมหาอำนาจ ได้อย่างรวดเร็ว มีการเมืองที่มั่นคง เศรษฐกิจที่มั่งคั่ง และ เทคโนโลยีที่ล้ำสมัย ในช่วงระยะเวลาไม่กี่สิบปี ก็เป็นเรื่องที่น่าจับตามองมาโดยตลอด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลา กว่า 2 วาระ ในการดำรงตำแหน่งผู้นำสูงสุดของจีนของสีจิ้นผิงนั้น จีน ได้สร้างความแข็งแกร่งในประเทศของตนเอง และ สร้างความสัมพันธ์ต่อประชาคมโลก ผ่านนโยบายเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจ อย่างข้อริเริ่มแถบและเส้นทางเป็นต้น
ด้วยเหตุผลดังที่กล่าวมานี้ แนวคิดของสีจิ้นผิง จึงเป็นสิ่งที่นักวิชาการจำนวนไม่น้อย เริ่มหยิบยกมาวิเคราะห์ เพื่อศึกษาถึงแนวคิด และ วิธีการทำงาน ว่า ยืนฐานของปรัชญาใด ก็พบว่า สีจิ้นผิง มีการใช้คำกล่าวของปราชญ์, กวี ตลอดจนหนังสืออันเป็นภูมิปัญญาจีนโบราณ มาปรับใช้เข้ากับโลกสมัยใหม่ได้อย่างดี ส่วนหนึ่งเพราะภูมิปัญญาโบราณนั้น เป็นความรู้รวบยอดที่ตกผลึกจากประสบการณ์จริง อีกส่วนหนึ่ง เพราะไม่ว่า โลกจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร ธรรมชาติของมนุษย์ และ สังคม ก็ยังคงมีธรรมชาติ ที่ไม่ต่างกันมากนัก
ครั้งหนึ่ง สีจิ้นผิง ได้รับแรงบันดาลใจจากกวีของเจิ้งป่านเฉียว กวีสมัยราชวงศ์ชิง ซึ่งได้ยินเสียงลมพัดต้นไผ่กระทบกัน แล้วคิดถึงเสียงโอดครวญของประชาชนที่ทุกข์ร้อน แม้ตำแหน่งนายอำเภอ จะเป็นตำแหน่งเล็ก ๆ แต่ทุกเรื่องของประชาชนล้วนเชื่อมโยงกับความรู้สึกของกวีเจิ้งป่านเฉียว โดยสีจิ้นผิง ได้กล่าวคำพูดที่สั้น ๆ แต่ครอบคลุมหลักการทำงานทั้งหมดของพรรคคอมมิวนิสต์จีนไว้ ว่า “一切为了人民,为了人民的一切” ซึ่งแปลว่า “ทั้งหมดเพื่อประชาชน เพื่อทุกอย่างของประชาชน” ทั้งนี้ในคัมภีร์หลี่จี้(礼记) ซึ่งเป็นคัมภีร์โบราณเองก็กล่าวไว้ ว่า “天下为公行大道” ซึ่งแปลว่า “เมื่อปกครองด้วยหลักธรรมอันยิ่งใหญ่แล้ว ใต้หล้า จึงเป็นของประชาชน”
จึงกล่าวได้ว่า แม้จีนจะมุ่งมั่นเข้าสู่การเป็นที่หนึ่ง ในทุกด้านของโลกสมัยใหม่ แต่จีนเองก็ไม่เคยทิ้งรากฐานภูมิปัญญาของปราชญ์ทั้งหลาย ในอดีต อีกทั้งยังนำกลับมา ตอกย้ำ อย่างต่อเนื่อง เพื่อเชื่อมโยงอดีตเข้ากับปัจจุบัน อีกด้วย
อีกเรื่องที่น่าสนใจคือ สีจิ้นผิง ได้นำหลักปรัชญาซานไฉ (三才) ที่กล่าวถึงเรื่องความสัมพันธ์ของฟ้า ดิน คน เอาไว้ว่า มีความพึ่งพาอาศัยเกื้อกูล ซึ่งกันและกันอย่างไร ในตอนหนึ่งของการกล่าวถึงระบบนิเวศไว้ ว่า “ระบบนิเวศที่ดี จะนำไปสู่อารยธรรมที่เจริญ ส่วนระบบนิเวศที่แย่ จะนำไปสู่อารยธรรมที่เสื่อม ตำราฉีเหมินเย่าซูกล่าว ว่า หากทำตามฤดูกาล และ ธรรมชาติของดิน จะใช้แรงน้อยแต่ได้ผลมาก แนวคิดนี้เพื่อเน้นย้ำ ว่า ฟ้า ดิน คน เชื่อมโยงเป็นหนึ่งเดียว เชื่อมโยงระบบนิเวศ ,ธรรมชาติ , กับอารยธรรมของมนุษย์ และ ทำสิ่งต่าง ๆ ให้เป็นไปตามกฎธรรมชาติ”
หรือแม้กระทั่งครั้งหนึ่ง ที่สีจิ้นผิงกล่าวถึงการสร้างสรรค์ และ พัฒนานวัตกรรม และ เทคโนโลยีของจีน แทนที่ท่านจะยกคำของนักวิทยาศาสตร์สำคัญท่านใดท่านหนึ่งมาสักคน ท่านกลับยกคำกล่าวของซางทัง(商汤) กษัตริย์จีน เมื่อครั้งบรรพกาลที่สลักอักษร 6 คำ ไว้ที่อ่างอาบน้ำของตนเองไว้ว่า “苟日新 , 日日新 , 又日新” ที่แปลความได้ว่า “เมื่อจะพัฒนา การพัฒนาทุกวัน ถึงจะเป็นการพัฒนา” ซึ่งเป็นการนำอดีตมาหลอมรวมเข้ากับปัจจุบัน เพื่อก้าวสู่อนาคตได้อย่างลงตัว
แต่อีกสิ่งหนึ่งที่น้อยคนจะทราบ ก็คือ แม้ว่า ภาระหน้าที่ของสีจิ้นผิง จะมีมากมายเพียงไร ท่านก็ยังแสดงออกถึงความรักครอบครัวมาเสมอ ดังที่สีจิ้นผิง เคยให้สัมภาษณ์ในหลายสื่อ เรื่องของการต้องโทรศัพท์คุยกับมารดา และ ภริยาของท่านทุกวัน ซึ่งเรื่องนี้ สีจิ้นผิงเอง ก็เคยยกเอาคำกล่าวของเมิ่งจื่อมา เพื่อเน้นย้ำความสำคัญของครอบครัว ไว้ว่า “天下之本在国,国之本在家” ซึ่งแปลว่า “รากฐานของโลก คือ ประเทศ รากฐานของประเทศ คือครอบครัว” เป็นต้น
บทความ โดย อาจารย์เอกรัตน์ จันทร์รัฐิติกาล (ผู้อำนวยการ สถาบันขงจื่อเส้นทางสายไหมทางทะเล (ฝ่ายไทย) มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์)
ถอดความจากรายการจับจ้องมองจีน รายการ ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่าง China Media Group กับ Nation TV
TAG : 0 0 Google + 0 เขียนเมื่อ : เสาร์ 3 ธันวาคม 2565 00:42:59 เข้าชม : 1984578 ครั้ง