
โอกาสในการส่งออก และ นำเข้าสินค้า ผ่านโครงข่ายรถไฟ ไทย ลาว จีน
งานเสวนาถ่ายทอดองค์ความรู้เกี่ยวกับกระแสการค้าของโลก กับวิสัยทัศน์ของจีนในระบบการค้าโลก จัดโดยสถาบันพัฒนาผู้ประกอบการการค้ายุคใหม่ และสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครคุนหมิง สาธารณรัฐประชาชนจีน มีการนำเสนอเรื่องเส้นทางรถไฟไทย ลาว จีน ที่จะเป็นโอกาสในการนำเข้า และ ส่งออกสินค้าของผู้ประกอบการไทย
สุวิทย์ รัตนจินดา ประธานสมาพันธ์ ผู้ให้บริการโลจิสติกส์ไทย กล่าวว่าโครงการขนส่งรถไฟจีน ลาว ถือเป็น corridor ใหม่ ที่สามารถส่งสินค้าและบริการในอุตสาหกรรมต่างๆ โครงการนี้เป็นหนึ่งในโครงการ BRI ที่รัฐบาลจีนให้ความมุ่งมั่น เส้นทางนี้เป็นเส้นทางชื่อมโยงจีน มาสู่ทางตอนใต้ผ่านลาว ไทย ทำให้ไทยมีโอกาสเป็นฮับกระจายไปยังประเทศเพื่อนบ้าน อย่างมาเลเซีย อินโดนีเซีย ในอนาคต
การส่งออกสินค้าไปยังจีน ปกติจะมีการส่งออกทางถนน และ ทางเรือผ่านท่าเรือแหลมฉบัง ท่าเรือกรุงเทพฯ ไปยังเมืองท่าอย่างเซี่ยงไฮ้ เสินเจิ้น ต้าเหลียน แต่พอมีบริการรถไฟจีน-ลาว ทำให้เกิดการลำเลียงสินค้าจากจีนตอนใต้ ผ่านลาวมาไทย เป็นเส้นทางใหม่ เป็นการขนส่งทางรถไฟที่เป็นเส้นทางที่สั้นที่สุด มีความสามารถในการเข้าถึงจีนได้เร็วที่สุด ใช้เวลา 15 ชั่วโมง จากเวียงจันทน์ไปนครคุนหมิง การที่มีระยะเวลาที่สั้น มีประสิทธิภาพ เป็นช่องทางใหม่ในการกระจายสินค้าของไทย ไปยังตลาดจีน
ที่ผ่านมา มีความพยายามเชื่อมโยงการขนส่งของไทย กับรถไฟจีนลาว เนื่อจากความแตกต่างของระบบรางที่รถไฟจีนลาว เป็น Standard Gauge แต่ของไทยเป็น Meter Gauge เป็นประเด็นสำคัญที่ต้องมีการยกขนที่ท่านาแล้ง เพื่อทำให้การขนส่งที่ท่านาแล้งไปยังจีนได้ ใช้เวลาการสร้างรางพอสมควร จนปีที่ผ่านมาสร้างเสร็จแล้ว ดังนั้นการขนส่งสินค้า โดยระบบรถไฟจากไทยไปยังจีน ก็สามารถเปลี่ยนถ่ายที่ท่าน่าแล้งได้
ในปีที่ผ่านมา มีการขนส่งสินค้าถึง 11.2 ล้านตัน มีผู้โดยสารทดลองใช้บริการประมาณ 8.5 ล้าน คน การขนส่งทางรถไฟสามารถส่งได้ 15-17 เที่ยวต่อวัน สามารถรองรับตู้สินค้าได้ 17,850 ตู้ต่อเดือน ปัจจุบันการขนส่งสินค้าใช้หัวรถจักร ขนาด 2,000 แรงม้า สามารถบรรทุกได้ 1,800 ตันต่อขบวน ในอนาคตจะมีการใช้รถจักร 3,000 แรงม้า ในการขนส่งสินค้า เพื่อให้รองรับการขนส่งสินค้าของทั้งขบวนได้ดียิ่งขึ้น
สิ่งที่ผู้ประกอบการอยากให้รัฐบาลดำเนินการคือ การผลักดันให้ท่าเรือบกเกิดขึ้นระหว่างจีน ลาว ไทย เชื่อมเป็นหนึ่งเดียว ซึ่งจะช่วยพัฒนาศักยภาพในการเชื่อมเส้นทางจากจีนไปสู่ยุโรป และ จากยุโรปมาไทย
ทำระบบการบริหารจุดตรวจปล่อย CIQ (Customs Immigration Quarantine) ของจีน ลาว ไทย หากสามารถทำได้เป็นมาตรฐานเดียวกัน อย่างเป็นทางการ จะช่วยพัฒนาศักยภาพการขนส่งสินค้าทางรถไฟ ให้คล่องตัวมากยิ่งขึ้น
ในอนาคต ควรใช้ศักยภาพของท่าเรือแหลมฉบัง เป็นเกตเวย์ในการรับสินค้าจากประเทศที่สาม ผ่านไทย ไปลาว และ จีน หรือ ส่งออกจากจีนผ่านลาวมาไทย และ มาสู่ท่าเรือแหลมฉบังไปส่งออกไปทั่วโลก
หากรัฐบาลไทยสามารถกำหนดนโยบาย ที่ชัดเจนอย่างเป็นรูปธรรม จะช่วยผลักดัน การส่งเสริมอุตสาหกรรมสองข้างทางของเส้นทางรถไฟ เป็นประโยชน์แก่ผู้ประกอบการต่าง ๆ ที่จะขนส่งผ่านเส้นทางนี้ในอนาคต
ดังนั้น ทั้งจีน ลาว ไทย ต้องสร้างความร่วมมืออย่างใกล้ชิด ทำให้เส้นทางนี้ เป็นโครงข่ายเส้นทางขนส่งที่สะดวก เพื่อที่จะเป็นเส้นทางที่จะช่วยขยายตลาดอื่นๆทั้งตลาดยุโรป เอเชียกลาง และรัสเซีย ต่อไป
บทความ : ประวีณมัย บ่ายคล้อย
TAG : 0 0 Google + 0 เขียนเมื่อ : ศุกร์ 10 กุมภาพันธ์ 2566 23:53:59 เข้าชม : 1879651 ครั้ง