
ปี 2566 เป็นปีที่ทั่วโลก หวังเห็นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน ซึ่งมีสัญญาณบวกจากหลายปัจจัย ปัจจัยแรก คือ สถานการณ์โควิด-19 ในจีนที่คลี่คลายแล้ว นับจากนี้ จึงเป็นช่วงเวลาของเดินหน้าฟื้นเศรษฐกิจจีนให้เติบโต อย่างแข็งแกร่ง ล่าสุด จีนเปิดให้นักท่องเที่ยวประเทศต่าง ๆ สามารถขอวีซ่าท่องเที่ยวได้แล้ว
ปัจจัยที่สอง คือ ก่อนหน้านี้ รัฐบาลจีนออกมาตรการ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจหลายมาตรการ โดยมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเป็นไปตามยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนเศรษฐกิจวงจรคู่ (Dual Circulation) ที่กระตุ้นเศรษฐกิจทั้งใน และ นอกประเทศ อาทิ กระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ เช่น มาตรการส่งเสริมการใช้รถยนต์พลังงานไฟฟ้า มาตรการกระตุ้นการลงทุน เช่น การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ในภูมิภาคต่าง ๆ มาตรการกระตุ้นการส่งออก ด้วยการสนับสนุนภาคธุรกิจ เอกชน พัฒนาเทคโนโลยี นวัตกรรม ยกระดับคุณภาพการผลิตสินค้า เพื่อเพิ่มมูลค่าการส่งออก ส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล เพื่อขับเคลื่อนการแข่งขันระหว่างประเทศ รวมถึง มาตรการดึงดูดนักลงทุนจากต่างชาติ ให้เข้ามาลงทุนในจีน มากขึ้น
ปัจจัยที่สาม คือ การประชุมสภาผู้แทนประชาชนแห่งชาติจีน ที่เพิ่งจบไปเมื่อสัปดาห์ ที่ผ่านมา มีการรับรองประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ให้เป็นประธานาธิบดี สมัยที่ 3 และ รับรองนายหลี่ เฉียง เป็นนายกรัฐมนตรี รวมถึงมีคณะรัฐมนตรีชุดใหม่อย่างเป็นทางการที่จะขับเคลื่อนแผนพัฒนาประเทศตามเป้าหมาย ยิ่งเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับตลาด
ในที่ประชุมสภาผู้แทนประชาชนแห่งชาติจีน (NPC) ชุดที่ 14 มีการตั้งเป้าจีดีพีของจีนปีนี้ที่ร้อยละ 5 โดยประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ย้ำ ว่า จีน จะเดินหน้าไปสู่ประเทศสังคมนิยมทันสมัย ด้วยการพัฒนาคุณภาพสูง เน้นการผลิตที่มีมาตรฐานสูง และ ให้ความสำคัญกับปริมาณและคุณภาพการผลิต เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ
เมื่อจีนส่งสัญญาณการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ อย่างชัดเจน จากนี้ จีน จึงเป็นช่วงเวลาของการเดินหน้าทำตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ เมื่อเครื่องยนต์เศรษฐกิจจีนเดินเครื่องเต็มที่ ทั้งเครื่องยนต์การกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ และ เครื่องยนต์กระตุ้นการส่งออก ย่อมมีผลต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของโลกด้วย ในฐานะที่จีนมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก
บอร์เก เบรนด์ ประธาน Wolrd Economic Forum (WEF) เคยให้สัมภาษณ์กับสื่อ ในการประชุมประจำปี WEF 2022 ว่า “การเติบโตทางเศรษฐกิจของจีน มีความสำคัญอย่างมาก ต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และ สิ่งที่มีผลกระทบต่อประเทศจีน ย่อมมีผลกระทบต่อส่วนอื่น ๆ ของโลก ด้วย”
Morgan Stanley วิเคราะห์ ว่า เมื่อจีนกลับมาเปิดประเทศในปีนี้ จะช่วยหนุนเศรษฐกิจจีนเติบโตร้อยละ 5 สูงกว่าการเติบโตของเศรษฐกิจตลาดเกิดใหม่ ที่มีแนวโน้มเติบโตเพียง ร้อยละ 3.7 การฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนส่งผลให้มูลค่าการบริโภคของชาวจีนเพิ่มขึ้นร้อยละ 1 ส่งผลบวกต่อภาพรวมเศรษฐกิจเอเชีย และ เศรษฐกิจโลก เช่น ในภาคพลังงาน จีน เป็นประเทศที่ใช้พลังงานมากเป็นอันดับ 2 ของโลก เมื่อจีนมีความต้องการใช้พลังงานมากขึ้น ย่อมส่งผลให้ราคาน้ำมันโลก ปรับตัวสูงขึ้น ในด้านห่วงโซ่อุปทาน จีนเป็นฐานการผลิตที่สำคัญของโลก การขับเคลื่อนเศรษฐกิจของจีน ย่อมหนุนภาคการผลิต และ ห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมต่างๆ ของโลกด้วย
ไม่เพียงแต่จีน จะมีบทบาทสำคัญในการช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลก แต่ความสำเร็จของจีน ยังเป็นกรณีศึกษาในการพัฒนาเศรษฐกิจ ดังที่เคลาส์ ชวาบ ผู้ก่อตั้ง และ ประธานบริหารของสภาเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum – WEF) เคยให้สัมภาษณ์สถานีโทรทัศน์ CGTN ของทางการจีน ยกย่องความสำเร็จของจีน ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ไปสู่ความทันสมัยในช่วง 40 ปี ที่ผ่านมา ว่า “โมเดลจีน” ยังเป็นต้นแบบที่น่าสนใจ ให้หลายประเทศ เรียนรู้ และ นำไปปรับใช้ได้ อีกด้วย
บทความ : ประวีณมัย บ่ายคล้อย
TAG : 0 0 Google + 0 เขียนเมื่อ : เสาร์ 18 มีนาคม 2566 01:28:59 เข้าชม : 1856799 ครั้ง