Home ข่าวเด่น ดิจิทัล MOU 3 หน่วย การสร้างความมั่นคงเกษตรกรรมไทย

MOU 3 หน่วย การสร้างความมั่นคงเกษตรกรรมไทย

5 second read
0
0
209

บันทึกข้อตกลง ความร่วมมือว่าด้วย เรื่องการสนับสนุน ส่งเสริม ขับเคลื่อน เพื่อให้ท้องถิ่นไทยให้เข้มแข็ง และ สร้างความมั่นคงด้านเกษตรกรรมของประเทศไทย

บันทึกตกลงความร่วมมือทำขึ้น ณ สมาคมองค์การบริหารส่วนตำบลแห่งประเทศไทย บ้านเลขที่ ๓๙ หมู่ที่ ๘ ตำบลคลองสาม อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี เมื่อวันที่  8  กันยายน พ.ศ. ๒๕๖๖  ที่ผ่านมา “เรื่องการสนับสนุน ส่งเสริม ขับเคลื่อน เพื่อให้ท้องถิ่นไทยเข้มแข็ง และ สร้างความมั่นคงด้านเกษตรกรรมของประเทศไทย” ระหว่าง ๓ องค์กรดังนี้ ๑. สมาคมองค์การบริหารส่วนตำบลแห่งประเทศไทย, ๒. สมาคมชาวเกษตรกรไทย, ๓. สถาบันปัญจนิยาม มูลนิธิ มจร วิทยาเขตนครสวรรค์

ซึ่งต่อไปจะเรียกองค์กรในลำดับที่ ๑ ว่า “สมาคมองค์การบริหารส่วนตำบลแห่งประเทศไทย” เรียกองค์กรลำดับ ที่ ๒ ว่า “สมาคมชาวเกษตรกรไทย” และเรียกองค์กรในลำดับที่ ๓ ว่า “สถาบันปัญจนิยาม” โดยทั้ง ๓ องค์กร ตกลงร่วมกันเพื่อบูรณาการความร่วมมือ เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อชุมชน สังคม และ ประเทศชาติ มากที่สุด โดยมีสาระสำคัญดังนี้

  1. 1. วัตถุประสงค์ของข้อตกลงความร่วมมือ จากสภาพปัญหาโลกร้อนและสภาพอากาศแปรปรวน การเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยีดิจิทัล การเกิดสงครามทางเศรษฐกิจ ได้ส่งผลกระทบต่อ สังคม ชุมชน และชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนทั่วโลก องค์การสหประชาชาชาติ ได้มีการจัดทำข้อตกลงความร่วมมือระหว่างประเทศ เรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) เพื่อให้ทุกประเทศได้ให้ความสำคัญและตระหนักว่า การเปลี่ยนแปลง และ การพัฒนาใด ๆ ควรจะต้องสร้างให้เกิดความยั่งยืน และ ทำให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ในประเทศไทย ในหลวง รัชกาลที่ 9 ได้ทรงคิดค้นและพัฒนาความรู้เรื่อง “เศรษฐกิจพอเพียง”ทั้งในภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ พระองค์ทรงทำเป็นแบบอย่างผ่านพระราชจริยวัตรและโครงการพระราชดำริ พระองค์ได้ถ่ายทอดความรู้เหล่านี้ให้กับส่วนราชการเพื่อนำไปใช้ และ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ผลจาการดำเนินการทำให้ประเทศไทย ไม่ประสบปัญหารุนแรงในด้านเศรษฐกิจ ทั้งยังสามารถรักษาเอกลักษณ์ของชาติ ไว้ได้จนทุกวันนี้

ด้วยเหตุนี้ เพื่อเป็นการเตรียมการรับมือต่อสภาพปัญหา ที่กล่าวมาข้างต้น และ สืบทอด รักษา เอกลักษณ์ เศรษฐกิจพอเพียง สร้างความเข้มแข็งให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและเกษตรกรซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ จึงได้เกิดการจัดทำข้อตกลงฉบับนี้ขึ้น ดังนี้

ความร่วมมือหมายถึง การร่วมมือระหว่าง “สมาคมองค์การบริหารส่วนตำบลแห่งประเทศไทย” กับ “สมาคมชาวเกษตรกรไทย “ และ “ สถาบันปัญจนิยาม “ ในการดำเนินงานให้บรรลุวัตถุประสงค์ ในด้านต่างๆดังต่อไปนี้

          1.1 เพื่อเพิ่มศักยภาพการผลิตสินค้าเกษตร ลดต้นทุน ลดความเสียหายที่เกิดจากผลกระทบของสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง ผลิตสินค้าที่ได้คุณภาพและปลอดภัยจากสารปนเปื้อน การแปรรูปสินค้า ด้วยการใช้ความรู้ และ เทคโนโลยีรวมทั้งการบริหารจัดการสมัยใหม่

          1.2 เพื่อเพิ่มช่องทางการจัดจำหน่ายสินค้าเกษตรให้เกษตรกรมีทางเลือกมากขึ้น ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ชุมชนสามารถตั้งราคาขายเองได้ มีการทำเกษตรแบบ contract farming และ pre-order เชื่อมโยงความต้องการซื้อและความต้องการขายผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัล ทำให้ราคาสินค้าเกษตรมีความเสถียรและคาดหวังได้

          1.3 เพื่อสร้างความมั่นคงเรื่องน้ำ ซึ่งเป็นปัจจัยการผลิตที่สำคัญทางการเกษตร ป้องกันบรรเทาปัญหาอุทกภัยและภัยแล้ง ลดการปนเปื้อนของน้ำ เพิ่มศักยภาพท้องถิ่นให้สามารถบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ตนเองได้อย่างชาญฉลาดและเกิดประโยชน์มากที่สุด เป็นการรับมือต่อสภาพปัญหาโลกร้อนและต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อม

          1.4 เพื่อร่วมปรับเปลี่ยนสภาพแวดล้อมของท้องถิ่นเข้าสู่ยุคดิจิทัล (Digital Transformation) ภายใต้บริบทของสังคมเกษตรกรรม ทำให้ชุมชนสามารถสื่อสารแลกเปลี่ยนข้อมูลดิจิทัลด้านต่างๆกันได้เร็วขึ้น เป็นก้าวเข้าสู่ชุมชนแบ่งปันหรือเศรษฐกิจแบ่งปัน

          1.5 เพื่อเพิ่มศักยภาพ บุคคล กลุ่ม องค์กร เครือข่าย ของท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องในการที่จะดำเนินการใดๆเพื่อทำให้ข้อตกลงความร่วมมือฉบับนี้บรรลุผลสำเร็จตามวัตถุประสงค์

          1.6 เพื่อสนับสนุนและผลักดัน ด้านอื่นๆ อันที่เกิดประโยชน์ต่อท้องถิ่นและต่อเกษตรกร และสอดคล้องต่อยุคสมัยและความต้องการของชุมชน ที่จะสามารถให้บริการและจำหน่ายได้ทั้งในประเทศและต่างประเทศ เช่น การทำสมาร์ทฟาร์ม การปลูกสมุนไพรและพัฒนายาสมุนไพร การพัฒนาแพทย์ทางเลือก การใช้พลังงานทางเลือก การใช้เครื่องจักรกลทางการเกษตรสมัยใหม่ การผลิตน้ำดื่มน้ำใช้ เป็นต้น

  1. ขอบเขตและแนวทางความร่วมมือ

          2.1 “สมาคมองค์การบริหารส่วนตำบลแห่งประเทศไทย” มีภาระดำเนินการในเรื่องดังต่อไปนี้

          2.1.1 ประสาน สร้างการรับรู้ ผลักดัน ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หน่วยราชการ องค์กรอื่นๆ ได้เข้าใจและให้ความร่วมมือและสนับสนุน ต่อ โครงการหรือการดำเนินงานใดๆที่จะเกิดขึ้นจากข้อตกลงความร่วมมือฉบับนี้

          2.1.2 พัฒนาโครงการต้นแบบในพื้นที่นำร่อง สำหรับใช้เป็นพื้นที่เรียนรู้และกรณีศึกษาให้กับ อปท. ชุมชน และองค์กรที่สนใจ

          2.1.3 จัดทำแผนพัฒนาและแผนงบประมาณสำหรับ โครงการที่จะดำเนินการภายใต้ข้อตกลงความร่วมมือฉบับนี้

          2.1.4 จัดทำฐานข้อมูลศักยภาพท้องถิ่นไทย สำหรับใช้ประเมินศักยภาพของท้องถิ่นทั่วประเทศ และใช้วางแผนสำหรับการพัฒนาโครงการ

          2.2 “สถาบันปัญจนิยาม” มูลนิธิ มจร วิทยาเขตนครสวรรค์  มีภาระดำเนินการในเรื่องดังต่อไปนี้

2.2.1 ให้บริการทางวิชาการ ค้นคว้าวิจัย จัดทำรายงาน และพัฒนาฐานเรียนรู้

          2.2.2 จัดทำแผนพัฒนาศักยภาพและจัดฝึกอบรม

          2.2.3 ประสาน สร้างการรับรู้ ผลักดัน ให้สถาบันหรือองค์กรทางวิชาการ อื่นๆ ได้เข้าใจและให้ความร่วมมือและสนับสนุน ต่อ โครงการหรือการดำเนินงานใดๆที่จะเกิดขึ้นจากข้อตกลงความร่วมมือฉบับนี้

          2.2.4 ประเมินศักยภาพและติดตามผลการพัฒนา เกษตรกรและองค์กรที่เข้าร่วมโครงการ

          2.2.5 สนับสนุน ให้บริการ จัดหา ให้คำแนะนำ ดิจิทัลแพลตฟอร์มที่เหมาะสมสำหรับ องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กร เกษตรกร ในการทำงานในยุคดิจิทัล

          2.2.6 จัดทำเอกสาร แผนงาน/โครงการ/งบประมาณ ต้นแบบ สำหรับให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือ องค์กรอื่น ได้นำไปใช้เป็นแม่แบบ ในขั้นตอนการจัดทำแผนงาน/โครงการ เพื่อของบประมาณสนับสนุนในการดำเนินงานโครงการนั้นๆ

          2.2.7 จัดทำตัวชี้วัดผลสำเร็จและจัดทำรายงาน ผลการดำเนินงานที่เกิดจากข้อตกลงฉบับนี

          2.3 “สมาคมชาวเกษตรกรไทย”  มีภาระดำเนินการในเรื่องดังต่อไปนี้

          2.3.1 สนับสนุนให้อาชีพเกษตรกรเกิดความให้มั่นคง ทั้งด้านการผลิต และ การจัดจำหน่ายสินค้า

          2.3.2 สนับสนุน ให้บริการ จัดหา ให้คำแนะนำ ปัจจัยการผลิต นวัตกรรมหรือเทคโนโลยีหรือเครื่องมือ ที่เหมาะสมได้คุณภาพ สำหรับการผลิต การแปรรูป และการจัดจำหน่ายสินค้า แก่เกษตรกร และ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

          2.3.3 หาตลาดสำหรับการจำหน่ายสินค้าทางการเกษตร เพื่อเป็นทางเลือกให้กับเกษตรกร

          2.3.4 สร้างแรงจูงใจให้เกิดการรวมตัวของกลุ่มเกษตรกรเพื่อสร้างความเข้มแข็งในการดำเนินงาน

2.3.5 ประสาน สร้างการรับรู้ ผลักดัน ให้ภาคส่วนและองค์กร อื่นๆ ได้เข้าใจและให้ความร่วมมือและสนับสนุน ต่อ โครงการหรือการดำเนินงานใดๆที่จะเกิดขึ้นจากข้อตกลงความร่วมมือฉบับนี้

          2.3.6 เป็นองค์กรหลัก ในการดำเนินงานในพื้นที่ ภายใต้ความร่วมมืออย่างใกล้ชิดของทั้ง 3 องค์กร

          2.4 “ทั้ง 3 องค์กร“ ตกลงที่จะสนับสนุนซึ่งกันและกัน เพื่อเพิ่มพูลความเข้มแข็งให้แต่ละองค์กร มีศักยภาพสามารถดำเนินงานต่าง ๆ ได้อย่างมืออาชีพ มีเป้าหมายให้เกิดความสำเร็จบนพื้นฐานจากการทำงานร่วมกันอย่าง “กัลยาณมิตร” และ “จิตสาธารณะ” และ “ธรรมาภิบาล” โดยเอาผลประโยชน์ของประชาชน และ ประเทศชาติเป็นที่ตั้ง จะมีการร่วมดำเนินกิจกรรมสำคัญต่าง อย่างน้อย ดังต่อไปนี้

          2.4.1 การจัดทำยุทธศาสตร์ แผนพัฒนา แผนปฏิบัติงาน

          2.4.2 การจัดประชุมร่วมกันเพื่อปรึกษาหารือ วางแผน และ ติดตามความคืบหน้า ทุกไตรมาส ไตรมาสละอย่างน้อย 1 ครั้ง

          2.4.3 การแลกเปลี่ยนข้อมูล และ ความรู้กันอย่างเป็นระบบ และ บูรณาการ

          2.4.4 การจัดทำสำนักงานเสมือนเพื่อทำงานร่วมกัน และ การพัฒนาบุคลากรขององค์กร

2.4.5 การจัดหางบประมาณดำเนินงาน

2.4.6 การดำเนินการอื่นๆ ที่เกิดประโยชน์ต่อการดำเนินการตามข้อตกลงฉบับนี้

2.4.7 บันทึกข้อตกลงความร่วมมือฉบับนี้ มีระยะเวลา 2 ปี

บันทึกข้อตกลงความร่วมมือนี้ ได้จัดทำขึ้นเป็น 3 ฉบับ มีข้อความถูกต้องตรงกันทุกประการ มีผลนับตั้งแต่วันที่มี การลงนามเป็นต้นไป หากมีการแก้ไขเปลี่ยนแปลง หรือ องค์กรใดองค์กรหนึ่งประสงค์ จะยกเลิกบันทึกข้อตกลงความ ร่วมมือนี้ จะต้องแจ้งเป็นหนังสือให้องค์กรอื่นทราบล่วงหน้าเป็นเวลาไม่น้อยกว่าสามสิบวัน ทั้ง 3 องค์กร ได้อ่าน และ เข้าใจข้อความในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือนี้ เป็นอย่างดีโดยตลอด แล้ว จึงได้ลงลายมือชื่อพร้อมประทับตรา (ถ้ามี) ไว้เป็นสำคัญต่อหน้าพยาน และ เก็บรักษาไว้องค์กรละ หนึ่งฉบับ

ผู้ลงนาม ผศ.(พิเศษ) ดร.วีรศักดิ์ ฮาดดา นายก สมาคมองค์การบริหารส่วนตำบลแห่งประเทศไทย นายวรัญญู โค้วรัชตะธนากร นายก สมาคมชาวเกษตรกรไทย ดร.ธนกฤต รุ่งแสนทวี ผู้อำนวยการ ฝ่ายส่งเสริมการมีส่วนร่วมและสื่อสารองค์กรสถาบันปัญจนิยาม มูลนิธิ มจร.วิทยาเขตนครสวรรค์

TAG : 0 0 Google +0 เขียนเมื่อ  :  อาทิตย์  10  กันยายน  2566  14:28:59   เข้าชม  : 1698535 ครั้ง

Load More Related Articles
Load More By admin
Load More In ข่าวเด่น ดิจิทัล
Comments are closed.

Check Also

สตาร์ตอัปยูนิคอร์นจีน เตรียมเดินเครื่องโรงงานแบตเตอรี่ชาร์จเร็วพิเศษในกว่างโจว

ปักกิ่ง, 29 ก.ย. (ซินหัว) — กว่างโจว เดลี่รายงานว … …